บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 1


บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 1

วันที่ 9 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2560

► ความรู้ที่ได้รับ

          การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
          การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์นั้นควรได้รับการดูแล ถ่ายทอดความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมที่ดีงามจากผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์สมบูรณ์แบบ ควรเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ อาจกล่าวได้ว่าบุคคลแรกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง

ความหมายของผู้ปกครอง
          ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ได้มีผู้ให้ความหมายของผู้ปกครองไว้ดังนี้
- Summers Della,1998 กล่าวว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อหรือแม่ของบุคคล
- Encyclopedia,2000 อธิบายไว้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นพ่อหรือผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท
คือ  1. ผู้ปกครองโดยสายเลือด 2. ผู้ปกครองโดยสังคม
          พรรณิดา สันติพงษ์ (2526) ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับเด็ก โดยอยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกันและมีส่วนในการอบรมสั่งสอน และเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก
          จินตนา ปัณฑวงศ์ (2531) ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อ แม่ หรือบุคคลอื่น อาจจะเป็นญาติมิตรหรือผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูตลอดจนให้การศึกษาแก่เด็ก
          สรุปได้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นที่ให้การอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่เด็กที่อยู่ในการดูแล ดังนั้นในการกล่าวถึงผู้ปกครองจึงมีความหมายรวมถึงบุคคลที่เป็นพ่อและแม่ด้วย

ความสำคัญของผู้ปกครอง 
          Lee Center and Marlene Center,1992 ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตของเด็ก ความรักและความอบอุ่นจากผู้ปกครองเป็นความต้องการของเด็กทุกคน ผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก
          Pestalozzi ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า ความรักของพ่อแม่เป็นพลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ความรักที่ประกอบด้วยเหตุผลและความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง ความรักที่บริสุทธิ์และความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกลมเกลียวกันในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กในการพัฒนาความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตที่สมบูรณ์มั่นคงต่อไป
          ฉันทนา ภาคบงกช (2531) กล่าวว่า ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดสามารถที่จะตองสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ ความต้องการในการดำรงชีวิต ความต้องการความรักความอบอุ่น นอกจากนี้เด็กยังได้อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูจากบ้านเป็นสำคัญ คุณภาพของเด็กมีผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก
          จากความสำคัญของผู้ปกครองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ปกครองมีความสำคัญซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้ที่มีความหมายต่อชีวิตเด็กทั้งการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจเป็นผู้ที่เด็กมอบความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้ปกครองจึงเป็นผู้นำที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสม เพื่อการก้าวสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นคงและมีความพร้อมในทุกด้าน จึงถือว่าผู้ปกครองเป็นผู้เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วยความรัก ความเข้าใจให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยเป็นรากฐานอนาคตของสังคมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรง

บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครอง
          พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้สนับสนุนและวางรากฐานอันสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของชีวิตมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภาวะแห่งความรับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูและสายใยแห่งความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ลูก เป็นพันธะที่จะต้องมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเอง สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่าง มีความสุข
          Christine Ward, 1998 ได้กล่าวถึง บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กไปโรงเรียน ผู้ปกครองก็จะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กร่วมกับโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้ การปฏิบัติหน้าที่ดูแลเด็ก การจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียน
          อารี สันหฉวี (2536) ได้เสนอบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในการฝึกเด็กให้ขยัน ฉลาด และเป็นคนดี
          กุลยา ตันติผลาชีวะ (2542) กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของผู้ปกครองคือ ต้องตระหนักถึงธรรมชาติของเด็กที่มีความเฉพาะที่ต้องเข้าถึงเด็ก มีร่างกาย มีจิตใจ มีการพัฒนา มิใช้แต่ตัวเด็กเองแต่เป็นทั้งเพื่อครอบครัวและสังคม 
ดังนั้นหลักการเลี้ยงเด็กจึงมี 3 ประการ ดังนี้
          1. หลักการทางจิตวิทยา
          2. หลักการทางพัฒนาการ
          3. หลักการทางวุฒิภาวะ
กรมวิชาการ (2545) ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองไว้ดังนี้
          1. เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
          2. ให้ความรักและความเข้าใจ
          3. เรียนรู้ร่วมกับเด็ก
          4. ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก
          5. ไม่ปิดกั้นความรู้สึกของลูก
          6. ฝึกให้ลูกรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
          7. ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

บทบาทและหน้าที่ด้านการอบรมเลี้ยงดู
          ภารกิจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ การอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา 
บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กมี 3 ประการ คือ
          1. เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับเด็ก
          2. เป็นผู้ให้การศึกษาเบื้องต้น
          3. เป็นผู้ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา

บทบาทและหน้าที่ด้านการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
          การศึกษา ทำความเข้าใจและแสวงหาประสบการณ์ว่าเด็กในแต่ละวันมีพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างไร พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้
          1. ช่วยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียน
          2. ส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงให้มาก
          3. สนทนาให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ป้อนคำถามให้เด็กได้คิดหาคำตอบ
          4. ชมเชยเมื่อเด็กทำความดี ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่ทำผิดก็ต้องชี้แจงให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่เด็กจะจำวิธีการผิดๆ ไปใช้
          5. ให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในบ้านที่เหมาะสมกับวัย
          6. ให้อิสระแก่เด็กบ้างในบางโอกาส
          7. สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดปัญญา
          8. คอยติดตามการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก โดยไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป
          9. ติดต่อกับครูของเด็กเพื่อรับทราบปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

บทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา
          การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์กับการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดชีวิต พ่อแม่ ผู้ปกครองถือเป็นบุคคลแรกที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กในแนวทางที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็ก ดังนี้
          1. ความอุทิศตน ในการมีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่
          2. มีจุดมุ่งหมายสูงส่งเพื่อลูก 
          3. ช่างสังเกตถี่ถ้วน
          4. ใช้สามัญสำนึกในการเลี้ยงลูก 5. ปลูกฝังวินัย ความเป็นไทย

สรุปบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง 10 ประการ 
          1. ให้ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว
          2. ให้ความเอาใจใส่และเอื้ออาทรต่อลูก
          3. ทำตนให้เป็นแบบที่ดีแก่ลูก
          4. ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตน
          5. ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัย
          6. ให้หลักธรรมในการพัฒนาเด็กด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)
          7. ส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
          8. ศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก
          9. เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ
         10. สนับสนุนเตรียมความพร้อมก่อนสู่สังคม

บทสรุป
          ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นซึ่งทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้ปกครองเด็กปฐมวัยถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างรากฐานของชีวิตในอนาคตกับเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และการส่งเสริมการศึกษา การที่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเด็ก ย่อมเป็นการทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กในด้านต่างๆ


คำถามท้ายบท

1.ในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักศึกษาคิดว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กปฐมวัยมีอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ ผู้ปกครองต้องมีความรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย เช่น การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และรู้ว่ามีผลดีและผลเสียต่อเด็กอย่างไร รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัยด้วย

2.จงอธิบายวิธี แนวทางที่ผู้ปกครองสามารถใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย
ตอบ ผู้ปกครองควรกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์เองที่บ้าน

3.การฝึกให้เด็กเป็นคนดี คนขยันและฉลาด ผู้ปกครองควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ  ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กก่อน แล้วจึงสอนให้เด็กทำตามด้วยการปลูกฝังแทรกเข้าไปในกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่น ให้ช่วยเหลืองานบ้าน อ่านหนังสือให้ฟังเพื่อปลุกฝังการรักการอ่าน เป็นต้น

4.ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของผู้ปกครองที่มีผลกระทบต่อเด็กปฐมวัย คือปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องใด จงอธิบาย
ตอบ  ปัญหาด้านการเงิน เพราะผู้ปกครองบางครอบครัวไม่มีปัจจัยทางการเงินมากพอที่จะส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ทำให้มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษา ขาดความรู้ และขาดโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดีในอนาคต

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชา
Parent                                                                    พ่อแม่ ผู้ปกครอง
Education                                                               การศึกษา
Early Childhood                                                      เด็กปฐมวัย
Parent Education for Early Childhood                    การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
Is a good example of children                                การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
Attentiveness                                                          ความใจใส่
Intimacy                                                                  ความใกล้ชิด
Family relationship                                                 สายสัมพันธ์ในครอบครัว
Accept emotions and feelings of children              ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก




► การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

          ทำให้เข้าใจความหมาย ความสำคัญ และบทบาทผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้



► การประเมินผล

● ประเมินตนเอง
          ตั้งใจฟังรายละเอียดวิชาและเนื้อหา

● ประเมินเพื่อน
          ตั้งใจเรียนดี 

● ประเมินอาจารย์
          อาจารย์สอนละเอียด เข้าใจง่าย และไม่น่าเบื่อ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น